Thursday, July 15, 2010

การทำหนังสั้น ตอนจบ

สารพัดปัญหาระหว่างถ่าย ทำ

อาจจะเคยอารัมภบทไปบ้าง แล้วนะครับ แต่คราวนี้จะมาแจกแจงให้ละเอียดอีกนิดนึง ซึ่งปัญหาที่มักจะเจอคือปัญหาที่ไม่คาดฝันไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะต้องได้เจอ เช่น ถ่ายๆ ทำอยู่ ปรากฏว่าเจ้าของบ้านบอก “ที่ตอนแรกถ่ายได้ถึงบ่ายสามโมงน่ะ ตอนนี้ถ่ายได้ถึงแค่บ่ายสองแล้วนะ” แต่ปรากฏว่า มีอีกหลายซีนที่ยังไม่ได้ถ่าย และคงจะถ่ายทำทั้งหมดไม่ทันเวลาแน่ คุณอาจจะแก้ได้โดย 1.ลองดูสิว่าฉากไหนสามารถโยกย้ายไปถ่ายที่อื่นได้ เช่น ฉากตัวละครคุยกันนอกบ้าน ให้ปรับเปลี่ยนเป็นไปคุยบ้านเพื่อนหรือคุยปากซอยบ้านแทนไหม จะได้ไปถ่ายที่อื่นทีหลังได้ หรือฉากไหนที่ไม่มีความจำเป็นต้องเรื่องราวหลักโดยรวม แต่ต้องถ่ายที่บ้านหลังนี้ จะสามารถตัดออกไปได้ไหม หรือแทนที่จะให้เล่นเป็นสิบๆ เทคเพื่อเอาเทคที่ดีที่สุดไปเลือกในตอนตัดต่อ ก็ให้เล่นแค่ไม่กี่เทค หรือแทนที่จะถ่ายมากมายหลายคัต ก็ให้เลือกเพียงไม่กี่คัตแต่ยังสามารถเอาไปตัดได้อยู่

หรือจู่ๆ บ้านที่คุณใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำ บ้านที่เงียบแสนเงียบ จู่ๆ มีคนมาตอกอิฐโบกปูนก่อสร้างกันครึกโครม จะแก้ไขยังไง อาจจะก่อนเดินกล้อง ส่งผู้ช่วยฯไปเป็นทูตและพูดว่า “พี่ครับ รบกวนช่วยเงียบแป๊บหนึ่งนะครับพี่ ขอบคุณมากครับ” แล้วก็ถ่ายหนังกัน พอถ่ายเสร็จก็ให้เขาทำงานต่อ (ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ ก็จะต้องขอๆ หยุดๆ กันทั้งวัน แต่เป็นไปไม่ได้หรอกครับที่จะให้เขาหยุดไปเลย มันงานของเขานะครับ) หรือไม่ก็ลองคิดหาทางอื่นดู แต่ถ้าคิดเท่าไหร่ก็ยังคิดไม่ออกเสียที ถ้ามีวิธีการแก้ไขหนึ่งเดียวก็ต้องแก้ไขด้วยวิธีนั้น
หรือถ้าเกิดอุปกรณ์ถ่ายทำเกิดมีปัญหา กล้องเกิดเปิดไม่ติด อันนี้อย่างแรกเลยที่ต้องเช็คคือ ใส่แบตหรือยัง? อันนี้ไม่น่าเชื่อว่าก็ยังเกิดขึ้นได้นะครับ พอๆ กับปัญหาอย่างลืมเปิดฝาครอบเลนส์และลืมเอาเทปที่จะใช้บันทึกภาพมาด้วย เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ จริงๆ และแก้ไขได้ด้วยสติลูกเดียวเลยครับ

หรือถ้าหากว่ามีฉากที่พระเอกต้องกระโดดลงน้ำเพื่อหนีผู้ร้าย แต่พระเอกดันมาบอกตอนวันถ่ายว่า “จริงๆ ผมว่ายน้ำไม่เป็นพี่” แล้วจะทำไงดีล่ะที่นี้? หนึ่งอาจจะถ่ายหลอก ทำเป็นว่าพระเอกโดด (แต่จริงๆ ไม่ได้โดด) แล้วค่อยอาศัยการตัดต่อมาช่วยเอาอีกทีหนึ่ง หรืออาจจะเปลี่ยนจากโดดลงน้ำ เป็นเห็นจักรยานจอดอยู่แถวนั้น เลยเอามาขี่ซะเลย หรือไม่ก็แก้ให้เป็นวิ่งหนีกันธรรมดาแทน แต่ถ้าผู้กำกับรู้สึกว่า ฉากโดดน้ำตัดออกไม่ได้และต้องเห็นว่าโดด เพราะมันมีสาระสำคัญและความหมายต่อเรื่องราวมาก ก็อาจจะแก้โดยให้สตันท์แมนมาแสดงแทน สรุปแล้ววิธีแก้ปัญหาบางอันมีให้เลือกเป็นร้อยแปดแบบครับ คิดอยู่กับคุณเองว่าจะเลือกแบบไหน

ถึงกระนั่น การเป็นผู้กำกับไม่ใช่แค่ว่าอยากได้อะไรก็ต้องได้ครับ แต่จะต้องรู้จักยืดหยุ่น ปรับแต่ง และโอนอ่อนผ่อนตามสถานการณ์ไปได้ หรือแม้กระทั่งหากเกิดเหตุร้ายสุดๆ ขึ้นมา เช่น ระหว่างรอพระเอกเดินทางมาที่ฉาก ปรากฏว่าพระเอกโดนรถชนขาหัก ไม่สามารถเดินทางมาเข้าฉากได้ ก็จะต้องยอมรับว่า “โอเค เลื่อนถ่ายไปก่อนดีกว่า เพราะเราแก้ไขอะไรไม่ได้”

ทำหนังแล้วเผชิญหน้ากับปัญหาไม่ใช่จุดจบของโลกครับ เช่นเดียวกับถ่ายหนังเรื่องหนึ่งไม่เสร็จ จะเพราะด้วยเทปที่ถ่ายไว้หายไป หรือพอจะถ่ายซ้อมครั้งใหญ่นางเอกไม่ยอมมาเล่นแล้ว สุดท้ายก็เลยแห้วกันไป แต่เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องระดับโลกแตกเหมือนกันครับ อย่างมากก็ทำหนังสั้นเรื่องใหม่ออกมา แต่อย่าท้อถอยครับ เหนื่อยได้แต่อย่าคิดว่า “ฉันไม่มีความสามารถ” ทุกคนมีศักยภาพที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ตัวเองคิด และถ่ายทอดมันออกมาได้ครับ ผมเชื่อว่าทุกๆ คนมีสองมือและมี “ใจ” ที่เท่าๆ กันครับ

เมื่อถึงเวลาที่หนังต้อง “เสร็จ”

กระบวนการสุดท้ายของการทำหนังก็คือการตัดต่อน่ะแหละครับ ถ้าคุณถ่ายเป็นเทปมินิดีวีมา ก็ต้องมา capture ลงคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะต้องติดตั้งการ์ดแคปเจอร์วีดีโอไว้แล้ว ส่วนโปรแกรมในการตัตต่อก็แล้วแต่คุณจะเลือกว่าจะใช้โปรแกรมอะไรดี อันซึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายก็คือ Adobe Premiere เรียกได้ว่าเป็นของสามัญประจำบ้านของเด็กหัดทำหนังสั้นหลายๆ คนเลยทีเดียว การใช้งานก็ไม่ยากครับ ตัวโปรแกรมก็สามารถไปหาซื้อได้ที่ เออ คุณก็คงจะพอรู้กันนะครับว่าที่ไหนขายบ้าง...ส่วนคู่มือของโปรแกรมนี้ก็มีขาย ตามร้านหนังสือทั่วไป ลองไปหามาใช้สอยกันดูนะครับ อ๋อ แล้วต้องไม่ลืมดูสเปคของคอมพิวเตอร์ด้วยนะครับว่า โอเคสามารถตัดงานได้หรือเปล่า แรมสัก 1 กิ๊กขึ้นไป ความเร็วรอบของฮาร์ดดิสก็ควรจะประมาณ 3200 รอบต่อนาทีขึ้นไป และฮาร์ดดิสควรจะเป็นแบบ NTFS นะครับเพราะสามารถรองรับกับไฟล์วีดีโอได้ (ถ้าหากจะหาซื้อคอมมาตัดเอง) และฮาร์ดดิสที่จะไว้สำหรับเก็บงาน ควรจะจุได้ 120 กิ๊กขึ้นไป (ไฟล์วีดีโอส่วนใหญ่ 1 ชั่วโมงจะได้ 13 กิ๊ก 120 กิ๊กก็จะเก็บไฟล์ได้ประมาณ 9 ชั่วโมงครับ น่าจะเหลือเฟือพอสำหรับหนังสั้น) แต่ถ้าเกิดไม่ได้ตัดเอง แบบไปขอใช้เครื่องเพื่อนช่วยตัด ก็ง่ายขึ้นหน่อย เพราะว่าเครื่องของเขาอย่างไรเสียก็คงจะตัดได้อยู่

ส่วนหลักในการตัดต่อให้สะดวกรวดเร็วนั้นมีง่ายๆ ดังต่อไปนี้นะครับ
1.จัดระเบียบการเก็บไฟล์ให้ดี คือ คนตัดควรจะรู้ว่าไฟล์นี้เก็บไว้โฟลเดอร์ไหน จะได้ไม่งงครับ
2.วางแผนการทำงานให้ดีนะครับ ไม่ว่าจะมีเวลาในการตัดเยอะหรือน้อยแค่ไหนก็ตามแต่
3.ก็เหมือนกับงานส่วนอื่นๆ น่ะครับ ที่ต้องการความระเอียดรอบคอบ และใจเย็น มีน้ำอดน้ำทนเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาทั้งหลาย ถ้ายึดหลักประมาณนี้ คุณก็น่าจะตัดต่อไปได้ด้วยดีนะครับ

ทิ้งท้าย

จริงๆ แล้วไม่อยากให้กังวลอะไรมากนะครับ บางทีหลักการดังกล่าวที่ผมว่ามาบ้างเรื่องอาจจะไม่ต้องไปยึดถือเอาตามมากนัก เพราะการทำหนังเรื่องแรกจริงๆ แล้วมักจะขึ้นอยู่กับฝีมือของคนทำหนังแต่ล่ะคนมากกว่า ว่าจะสามารถทำให้หนังสนุกหรือไม่สนุก แต่ถึงผลลัพธ์อาจจะออกมาน่าผิดหวัง แต่ก็อย่าไปซีเรียสกับมันให้มากเลยครับ ถ้าหากตั้งใจทำงานออกมาอย่างเต็มที่แล้วมันไม่ได้อย่างที่หวัง ก็อย่าได้ท้อแท้แต่หากยังเชื่อมั่นในฝันของคุณก็ขอให้สู้ต่อไป และหากหนังมันแย่ ก็อยากให้จดจำถึงเรื่องดีๆ อื่นๆ เช่น บรรยากาศการถ่ายทำที่ผ่อนคลายและเฮฮามากกว่า

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกๆ คนจะสนุกกับการทำหนังสั้นนะครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.thaishortfilm.com/board/viewtopic.php?t=5331

No comments:

Post a Comment