Thursday, July 15, 2010

การทำหนังสั้น ตอนที่ 5

..นอกเหนือจากใจเย็นแล้ว ความมีน้ำใจยังสำคัญอีกเช่นกัน ความมีน้ำใจที่ผมว่าก็หมายถึง การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เช่น ถ้าเห็นว่านักแสดงเริ่มเหนื่อย ก็อาจจะถามว่า “พักดื่มน้ำหน่อยไหม?” หรือเมื่อเลิกถ่ายแล้วก็กล่าวขอบคุณทีมงานที่ได้มาช่วยกันทำหนัง การแสดงความรู้สึกเช่นนี้ออกมา จะช่วยตอกย้ำภาพอันน่าประทับใจในตัวคุณไปยังทีมงานทุกๆ คนครับ ถ้าคุณทำหนังเรื่องต่อไปก็หนีไม่พ้นว่าเขาเหล่านี้พร้อมจะมาช่วยคุณอีก
สามประเด็นข้างต้นนี่แหละครับ ที่ผมอยากให้ผู้กำกับใส่ใจไว้ ก่อนหน้าที่จะเริ่มต้น และไม่ละทิ้งมันไประหว่างทาง

ส่วนเรื่องที่อาจจะสงสัยกันว่า การกำกับเขาทำกันยังไง? ผมจะบอกแบบง่ายๆ นะครับ การกำกับก็คือ การดึงเอาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวคนที่เราร่วมงานด้วยออกมา โดยในขณะเดียวกัน เราก็จะต้องดึงเอาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวเราออกมาให้เขาเห็นเช่นกัน แสดงให้ทีมงานเห็นถึงความทุ่มเทของเรา ให้ทุกคนรู้สึกมั่นใจในตัวเรา ถึงค่อยคิดที่จะก้าวต่อไป แล้วเราจะดึงความสามารถของคนอื่นออกมาได้อย่างไรน่ะเหรอครับ? ก็อาศัยการหว่านล้อม ชักจูงด้วยคำพูด ด้วยจิตวิทยา ถ้าจะให้อธิบายรายละเอียดอะไรให้มากกว่านี้ก็คงจะไม่พอหน้ากระดาษน่ะครับ สุดท้ายแล้วเรื่องแบบนี้ก็คงขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้กำกับแต่ล่ะคนว่าจะ ทำได้มากแค่ไหน

2.ผู้ช่วยผู้กำกับ อย่าที่เกริ่นไว้ มีหน้าที่เป็น “แขนขา” ของผู้กำกับ เพราะในขณะที่ผู้กำกับกำลังคิดถึงงานที่อยู่ตรงหน้า ผู้ช่วยฯก็จะมาคิดถึงการทำให้งานมันเดินหน้าไปได้ หรือในอีกความหมายหนึ่งก็คือการลดภาระของผู้กำกับลงไป เพราะแทนที่จะต้องมานั่งคิดว่า ต่อไปจะต้องถ่ายฉากไหน แล้วมีใครเข้าฉากบ้าง ฉากนี้ควรจะถ่ายถึงกี่โมงเพื่อให้เสร็จภายในเวลาที่มีอยู่ นักแสดงแต่งหน้าอยู่ เมื่อต้องเข้าฉาก ผู้ช่วยฯก็เป็นคนไปตามนักแสดงนั้นๆ เรื่องเหล่านี้เป็นหน้าที่ของผู้ช่วยแหละครับที่จะต้องคิด

แล้วผู้ช่วยผู้กำกับต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ประการแรกต้องใจเย็นครับ มีความอดทน เพราะการต้องประสานงานกับหลายๆ ฝ่ายอาจจะทำให้มีเรื่องกระทบกระทั่งบ้าง ก็ต้องขันติเข้าข่มไว้ และอีกอย่างคือ จะต้องมีความตื่นตัวต่อทุกสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ไม่หลุกหลิกไปกับสิ่งเร้าอื่นใด และนอกจากนี้ก็ยังจะต้องมีความคล่องตัว รวดเร็ว ฉับไว และที่สำคัญอีกอย่างคือ จะต้องรู้ทุกอย่างที่ผู้กำกับคิดและรู้เกี่ยวกับหนังที่กำลังทำอยู่ เพราะว่าผู้ช่วยฯจะต้องคอยตอบคำถามแทนผู้กำกับให้แก่ทีมงานฝ่ายอื่นๆ ได้รับรู้

3.ผู้จัดการกองถ่าย หลักๆ คือดูแลเรื่องการเงิน ว่าใช้จ่ายไปเท่าไหร่ แล้วคอยให้คำแนะนำ (แกมบังคับ) แก่ทีมงานว่า ควรจะใช้งบเท่าไหร่เพื่อการซื้อหรือทำอะไรสักอย่าง ว่าง่ายๆ ก็คือหน้าที่ควบคุมให้ระบบการเงินในกองถ่ายราบรื่น เป็นไปด้วยความเหมาะสมตามงบที่มีอยู่ หน้าที่นี้จำเป็นจะต้องอาศัยผู้มีความละเอียดรอบคอบในการทำงาน และมีสายตาที่ปราดเปรียวว่องไว เมื่อเห็นอะไรที่ผิดปรกติ เช่น กำลังจะมีคนใช้เงินเกินงบทั้งๆ ที่สามารถประหยัดได้มากกว่านั้น ผู้จัดการกองถ่ายจะต้องรู้ก่อนและแก้ไขได้ทันท่วงที

4.ตากล้อง/ผู้กำกับภาพ ไม่ใช่แค่เอากล้องมาวางแล้วก็ถ่ายอย่างเดียวนะครับ แต่จะต้องตีความตามบทหนังที่อ่าน และถ้ามีสตอรี่บอร์ดก็ต้องถ่ายตามนั้น โดยที่จะต้องช่วยเหลือด้านเทคนิคเพื่อให้ได้ภาพอย่างที่ผู้กำกับต้องการ หรือหากภาพที่วางไว้ในสตอรี่บอร์ดมันเกิดไม่ใช่ นั่นแปลว่าผู้กำกับภาพต้องรู้เรื่ององค์ประกอบภาพ (การวางตำแหน่งวัตถุต่างๆ เวลาอยู่ในเฟรมให้ดูดี) รวมถึงรู้วิธีเลือกใช้ขนาดภาพให้เหมาะสมในคัตที่กำลังถ่ายๆ อยู่ และสามารถหาหนทางอื่นมาเป็นทางออกให้แก่ผู้กำกับได้ แต่แน่นอนว่าสุดท้ายแล้วดวงตาของผู้กำกับภาพ ย่อมจะต้องเป็นดวงตาอันเดียวกับของผู้กำกับ

5.คนบันทึกเสียง สำคัญไม่น้อยกว่าภาพเลย เพราะถ้าเสียงไม่ดีฟังที่ตัวละครพูดไม่รู้เรื่องนี้จบกัน คนบันทึกเสียงไม่ได้แค่ทำหน้าที่บันทึกเสียงอย่างเดียว แต่ยังต้องคอยช่วยผู้กำกับดูว่า ก่อนถ่ายเมื่อไปดูโลเคชั่น ก็จะบอกได้ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นกับการอัดเสียงเพื่อที่จะแก้ไขได้ หรือระหว่างถ่าย ก็คอยดูว่าช่วงไหนอัดเสียงได้ไม่ได้ เพื่อที่จะสามารถทำให้ได้เนื้อเสียงที่มีคุณภาพดีไปใช้ในการทำงานด้าน post production

6.ผู้กำกับศิลป์ มีหน้าที่ช่วยให้งานฉากและอุปกรณ์ประกอบฉากได้ดังภาพที่ผู้กำกับคิดไว้ ไม่ใช่แค่เอาของมาวางๆ จัดฉากเท่านั้น แต่เช่นเดียวกับตากล้อง ก็จะต้องมีดวงตาที่เห็นเหมือนผู้กำกับเช่นกัน

แล้วก็ยังมีอีกหลายหน้าที่ แต่คนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผู้กำกับจำเป็นจะต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า หนังเรื่องนี้(ที่คุณกำลังช่วยเขาทำงานอยู่) ไม่ใช่หนังของคุณเอง คุณไม่ควรที่จะพยายามยัดบางสิ่งบางอย่างที่คุณชอบไปแต่ผู้กำกับไม่เห็นชอบ นั่นก็คือการเคารพการตัดสินใจของผู้กำกับน่ะแหละครับ และทีมงานก็เหมือนผู้กำกับ หลีกเหลี่ยงการใช้อารมณ์ระหว่างกันได้จะถือว่าดีเลิศที่สุด

เล่าเรื่องการทำหนัง

สมมุติการทำหนังเรื่องหนึ่งน่ะครับ ฉากที่ตลาด นางเอกมาซื้อส้มทุกคนมาที่เซ็ต ตากล้องเตรียมกล้องปรับภาพและสีให้ตรงตามที่ตั้งใจเอาไว้ ผู้กำกับก็คอยดูแลทุกๆ อย่าง ผู้ช่วยคอยดูว่านางเอกเปลี่ยนชุดตามที่กำหนดไว้ไหม และดูร้านส้มที่ให้เพื่อนซึ่งเป็นอาร์ตเซ็ต แต่เซ็ตฉากล่วงหน้าไม่ได้ก็เลยต้องมาเซ็ตวันนี้นั้น เสร็จเรียบร้อยดีหรือยัง โอเค นางเอกมาแล้ว กล้องพร้อมแล้ว ฉากก็พร้อมแล้ว แล้วพวกตัวประกอบล่ะ? จู่ๆ ผู้กำกับรู้สึกว่าคนที่เดินตลาดทำไมไม่มีคนมาร้านส้มร้านนี้เลยนอกจากนางเอก ก็ต้องไปหาตัวประกอบเพิ่ม คุณจะหา ณ เดียวนั้นก็ได้นะครับแต่บอกไว้เลยว่ามีสิทธิสูงที่จะหาไม่ได้ ผู้ช่วยผู้กำกับจะต้องมองเห็นปัญหาล่วงหน้าก่อนที่มันจะเกิด และแก้ไขซะก่อน ซึ่งในการนี้ก็แปลว่า ผู้ช่วยผู้กำกับสามารถหาตัวประกอบมาเข้าฉากได้

ต่อไป ถ้าไม่ได้มีการบล็อกซ็อตและบล็อกกิ้งคิวนักแสดงมาก่อน (กำหนดมุมกล้องและการเคลื่อนไหวของนักแสดงในฉาก) ก็ต้องมาทำ ณ เดี๋ยวนั้น นางเอกเดินไปไหน มาหยุดตรงไหนของร้านส้ม เมื่อรู้ตำแหน่งหยุดของนางเอกที่ร้านส้มแล้ว ผู้ช่วยผู้กำกับต้องไปมาร์คจุดหยุดที่พื้น(โดยอาศัยเทปสี) แปะลงไป ณ จุดนั้น เพราะหากนางเอกหยุดไม่ตรงจุด ก็จะมีปัญหากับองค์ประกอบของภาพและการวางตำแหน่งของบูมได้ (เพราะต้องแรกซ้อมไว้อย่างนั้น แต่พอเล่นจริงอย่างหนึ่ง ทำให้ทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผน) ซ้อมเสร็จก็ถึงค่อยเอาจริง กล้องพร้อมเสียงพร้อม (ควรมีคนถามเซ็ค ซึ่งหน้าที่ตรงนี้ควรเป็นของผู้ช่วยผู้กำกับ) ถ้ายังไม่มีใครพร้อมอย่าเพิ่งสั่งแอ็คชั่นนะครับผู้กำกับ ช่วยตากล้องเองก็อย่าเพิ่งเดินกล้อง ถ้าเป็นกองหนังสั้นเล็กๆ เมื่อเขาถามว่า “กล้องพร้อมไหม?” ถึงค่อยกด record ให้ตัวเลขในกล้องวิ่งไปสักระยะหนึ่ง แล้วค่อยบอกไปว่า “กล้องพร้อม” (เสียงก็เช่นเดียวกัน)

เริ่มแรกเลยในฉากๆ หนึ่งเราควรที่จะถ่าย master shot หรือซ็อตกว้างๆ ที่เห็นการกระทำทุกอย่างของตัวละครในฉากนั้น เพื่อเอาไว้เป็นหลักในการถ่ายคัตอื่นๆ เช่น ถ่ายเจาะหน้า เจาะมือ เจาะขา เจาะตัวประกอบ โดยที่ทีมงานต้องช่วยกันดู(กรณีไม่มีคนดูแลความต่อเนื่องเฉพาะ) ว่า ฉากที่แล้วนางเอกหยิบส้มจากแม่ค้านี่ ใช้มือซ้ายหรือมือขวา หรือถ้านางเอกเกิดเข้าห้องน้ำ แล้วตอนแรกเธอใส่สร้อยเส้นหนึ่ง ก็ต้องจำให้ได้ว่า เอ๋ ตอนแรกนางเอกใส่สร้อยนี่หว่ามันหายไปไหนล่ะ แล้วก็ไปหาสร้อยเส้นนั้นกลับมาให้นางเอกใส่
ในอีกด้านหนึ่ง ผู้จัดการกองถ่ายก็คอยเตรียมน้ำเย็นๆ ให้ทีมงานดื่มเมื่อเห็นว่าน่าจะเริ่มหิวน้ำกันแล้ว และเมื่อใกล้เที่ยงก็ไปเตรียมอาหารการกิน (อย่าปล่อยให้ทีมงานไปหากินเองเด็ดขาด คุณสมบัติเรื่องน้ำใจจะหมดลงไปในทันที) ถ่ายไปเรื่อยๆ สมมุติในฉากนางเอกต้องโดดแดด โอเค ระหว่างเซ็คฉากหรือกล้องก็หาคนมายืนถือร่มให้นางเอกเสียหน่อย เดี๋ยวนางเอกจะเป็นลมไปก่อน

แล้วเมื่อถ่ายฉากร้านส้มเสร็จแล้ว แผนการทำงานของเราต่อไปเป็นเช่นไร ผู้กำกับก็เรียกผู้ช่วยผู้กำกับมา “เราพอใจฉากนี้แล้ว เดี๋ยวถ่ายไรต่อ?” จากแผนการที่ได้วางไว้ว่า ไปถ่ายฉากนางเอกเดินเข้าปากซอยจะดีที่สุดเพราะใกล้กับที่ถ่ายร้านส้ม โดยที่นางเอกยังคงชุดเดิม โอเค นางเอกไม่ต้องเปลี่ยนซื้อผ้า เพราะฉะนั้นเราก็สามารถย้ายกองไปได้เลย ผู้ช่วยผู้กำกับก็อาจจะบอกทีมงาน “โอเคครับย้ายกอง กรุณาช่วยๆ กันรีบนะหน่อยครับประเดี๋ยวจะไม่ทันกำหนดการเอา”

ถ้าไม่มีปัญหาอะไร งานทุกอย่างก็มักจะเดินไปตามตารางที่ได้วางเอาไว้แล้วเสมอ....

(โปรดติดตามตอนต่อไปนะครับ)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.thaishortfilm.com/board/viewtopic.php?t=5259

No comments:

Post a Comment